สภาทองคำโลก ชี้ดีมานด์ทองคำปี’65 แข็งแกร่ง ขึ้นดอกเบี้ยกระทบวงจำกัด

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

สภาทองคำโลก ประเมินปี’65 ความต้องการทองคำยังคงแข็งแกร่ง แม้จะมีปัจจัยลบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด แต่เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกระทบทองคำในวงจำกัด พร้อมชี้ 3 ความแตกต่างทองคำและคริปโทฯ-แนะถือทองคำ 5-15% ของพอร์ต

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 แอนดรูว์ เนย์เลอร์ (Andrew Naylor) ผู้บริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) สภาทองคำโลก กล่าวว่า ความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมตลาด OTC) ในปี 2564 ฟื้นตัวขึ้นนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 มาอยู่ที่ 4,021 ตัน ซึ่งในไตรมาสที่ 4 ความต้องการทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้นเเตะ 1,147 ตัน ซึ่งถือเป็นระดับรายไตรมาสที่สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ในปี 2562 เป็นต้นมา และเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบรายปี

ขณะที่ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญเพิ่มขึ้น 31% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ 1,180 ตัน เนื่องมาจากนักลงทุนรายย่อยมองหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19

ส่วนความต้องการทองคำในประเทศไทยปี 2564 ที่ผ่านมาแนวโน้มความต้องการทองคำของผู้บริโภคแตะระดับ 12 ตัน ในไตรมาสที่ 4 หรือเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงความต้องการเครื่องประดับทองรายปีของประเทศไทยอยู่ที่ 8 ตัน เพิ่มขึ้น 38% จาก 6 ตัน ในปี 2563 และความต้องการใช้เครื่องประดับเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันในการเติบโตแบบปีต่อปี

เรียกได้ว่าเป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 และสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยได้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญยังเพิ่มขึ้นแตะ 29 ตัน เทียบกับปี 2563 ที่มีการขายสุทธิที่ 87 ตัน

“ฉะนั้นเราเห็นดีมานด์ในทองคำแท่งและเหรียญเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนจากการถอนลงทุนสุทธิไปเป็นการลงทุนเชิงบวกสุทธิ การรวมกันระหว่างราคาทองคำที่ลดลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและค่าเงินบาทที่อ่อนลงมีบทบาทสำคัญในแนวโน้มการลงทุนนี้เป็นอย่างยิ่ง”

สำหรับแนวโน้มทองคำใน 2565 คาดว่าความต้องการในทองคำยังมีอยู่เนื่องจากทองคำจะมีกลุ่มที่มีความต้องการอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้บริโภค และ กลุ่มสถาบัน โดยในระดับกลุ่มผู้บริโภคเชื่อว่าความต้องการของกลุ่มนี้ยังแข็งแกร่งและยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่มสถาบันความต้องการอาจจะลดลงเล็กน้อย โดยข้อมูลจากสภาทองคำโลกระบุว่าเมื่อเราเข้าสู่ปี 2565 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้น การคาดการณ์ระบุว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้งในปีนี้และเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อัตราจริงยังคงต่ำทำให้ในปี 2565 ทองคำอาจเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่คล้าย ๆ กับปี 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อทองคำ แต่หากดูจากในอดีตก็แสดงให้เห็นว่าผลกระทบอาจมีจำกัดและจะค่อย ๆ ฟื้นตัว

ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้และความเป็นไปได้ที่ตลาดจะอ่อนตัวลงมีแนวโน้มที่จะรักษาความต้องการทองคำไว้เป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยง นอกจากนี้ทองคำอาจยังคงได้รับการหนุนจากผู้บริโภคและอุปสงค์ของธนาคารกลาง

ขณะที่ประเด็นทองคำและคริปโทเคอร์เรนซี แอนดรูว์ เนย์เลอร์ กล่าวว่า ทองคำและคริปโทเคอร์เรนซี มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนอยู่ 3 ส่วน คือ 1.ความเสี่ยงด้านการเติบโต เนื่องจากทองคำเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่คริปโทฯ นักลงทุนไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนขายคือใครซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก

2.การกำกับดูแล ซึ่งก็มีหลาย ๆ ประเทศที่ออกมาแบนคริปโทฯ และหลายประเทศที่การออกมากำกับดูแลรวมถึงอนุญาตให้มีการเก็บภาษีได้ อย่างประเทศอินเดียที่ออกมาประกาศเก็บค่าภาษีคริปโทฯ สูงถึง 30%

และ 3.ผลการดำเนินงานทางการเงิน (Financial Performance) ของคริปโทฯที่แตกต่างกัน ซึ่งทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่หลายคนยังมีความต้องการแต่คริปโทฯจะเป็นความต้องการของคนบางกลุ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ตามมองว่าการที่มีคริปโทฯ ทำให้ทองคำรับรู้ว่าถึงเวลาที่ต้องปรับตัวจากเดิม ให้มีการซื้อขายผ่านออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้ทองคำปรับตัวและเติบโตต่อไปได้ ทั้งนี้คำแนะนำสำหรับการจัดพอร์การลงทุนในทองคำ โดยดูจากการจัดพอร์ตการลงทุนของทั่วโลกจะแนะนำให้ลงทุนในทองคำอยู่ที่ประมาณ 5-15% ของพอร์ตการลงทุน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ล่ะประเทศด้วย

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

Klook.com