KBank Private Banking โชว์ AUM โต 6% ลุ้นแตะ 1 ล้านล้านปี 66

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

เคแบงก์ ไพรเวท แบงกิ้งโชว์ผลงานที่ปรึกษาด้านการลงทุน จากความพยายามในการสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุนของลูกค้าท่ามกลางสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน แนะนำสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity) และตราสารอนุพันธ์แฝงแบบ KIKO พร้อมโชว์ 18 กองทุนที่มีผลตอบแทนเป็นบวก จาก 25 กองทุนที่แนะนำในพอร์ต K-ALPHA กับ 3 ธีมลงทุนเด่น อย่าง Winner of the new economy, Policy Driven for Better World และ Laggard & Cyclical Upturn ทำให้พอร์ตการลงทุนที่แนะนำลูกค้าเติบโตท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 พร้อมประกาศสานต่อกลยุทธ์ 3S ต่อเนื่อง

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ ไพรเวท แบงกิ้ง กรุ๊ป เฮด ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ตลาดการลงทุนตลอดปี 2564 ไม่สดใสเท่าที่ควร หลังตลาดหุ้นโลกรีบาวนด์แรงไปแล้วในช่วงไตรมาส 2-4 ปี 2563 ตลอดปี ตลาดลงทุนอ่อนไหวต่อข่าวสาร และสถานการณ์ความไม่แน่นอนมากขึ้น จากแนวโน้มที่ตลาดปรับตัวแบบ Bumpy Bend หรือมีการปรับขึ้นลงในกรอบแคบๆ และมีความผันผวนสูงตามที่ธนาคารเคยคาดการณ์ ตลาดหุ้นโลกโดยรวมยังปรับตัวขึ้นได้จากแรงหนุนของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตดี ล่าสุด ตลาดกลับมาตื่นตระหนกอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดฝั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น จากสาเหตุหลักที่ว่าแม้ว่าโอมิครอนจะแพร่ระบาดได้ง่ายแต่อาการไม่รุนแรง

“ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารในฐานะที่ปรึกษาด้านการลงทุนได้ติดตามสถานการณ์ตลาดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจให้พอร์ตการลงทุนของลูกค้า นอกเหนือจากคำแนะนำให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้แล้ว ธนาคารได้แนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง +17.5% ต่อปีตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในช่วงกลางปี 2563 รวมถึงแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ควบอนุพันธ์ (KIKO) ที่อ้างอิงกับตะกร้าหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงถึง 12-23% ต่อปี ในกรณีที่หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ”

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเชื่อมั่นในกลยุทธ์การลงทุนด้วยหลักการกระจายความเสี่ยงทั้งใน Core และ Satellite โดย 18 จาก 25 กองทุนที่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนใน K-ALPHA สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น แบ่งเป็น 4 จาก 5 ใน Core port ที่เน้นกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์หลักทั่วโลก และจัดสรรการลงทุนแบบคำนึงถึงความเสี่ยง และอีก 14 จาก 20 กองทุนใน Satellite นำโดย 3 ธีมการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น Winner of the new economy (ผู้ชนะในยุคเศรษฐกิจใหม่) เช่น กองทุน K-CHANGE (+11.9%) ลงทุนในบริษัทที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามเป้าหมายของ UN กองทุน K-HIT (+18.8%) ลงทุนในธุรกิจแห่งโลกอนาคตที่ได้รับอิทธิพลจาก Megatrends และกองทุน ONE-UGG (+6.4%) ลงทุนในธุรกิจที่มีนวัตกรรมหรือการปรับตัวเพื่อตอบรับกับผู้บริโภคในอนาคต
Policy Driven for Better World (ธุรกิจที่มีนโยบายขับเคลื่อนเพื่อโลกที่ดีกว่า) เช่น กองทุน K-CLIMATE (+14.3%) ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกองทุน K-GINFRA (+9.5%) ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ ที่ได้รับอานิสงส์จากแผนการพัฒนาโครงสร้างครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีไบเดน

Laggard & Cyclical Upturn (กลุ่มธุรกิจที่เติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) เช่น กองทุน K-EUROPE (+28.8%) ลงทุนในหุ้นยุโรปที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น กลุ่มเทคโนโลยี และเฮลท์แคร์ กองทุน K-EUSMALL (+23.0%) ลงทุนในบริษัทขนาดเล็กในตลาดยุโรป เช่น ภาคอุตสาหกรรม การเงิน อุปโภคบริโภค และเทคโนโลยี กองทุน ONE-GLOBFIN (+17.6%) เน้นกระจายการลงทุนหุ้นในกลุ่มการเงินที่มีคุณภาพทั่วโลก และกองทุน K-JP (+10.0%) เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นโดยไม่จำกัดขนาดและหมวดอุตสาหกรรม

ส่วนการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีนั้น นายจริวัฒน์ กล่าวอีกว่า ธนาคารสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง และไม่สนับสนุนให้ลงทุนในกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากมีความผันผวนสูง แต่หากนักลงทุนต้องการที่จะมีติดพอร์ตไว้ แนะนำไม่ควรเกิน 5% ของพอร์ต

สำหรับในปี 2565 ธนาคารแนะนำ 10 กลยุทธ์การลงทุน ได้แก่ เพิ่มเงินสดในพอร์ตเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น จากความไม่แน่นอน โดยเฉพาะทิศทางการดำเนินนโยบายของ FED ท่ามกลางราคาของหลายๆ สินทรัพย์ที่เริ่มตึงตัว หากตลาดมีการปรับฐานสามารถใช้โอกาสการเข้าซื้อในราคาที่ต่ำลง รวมถึงลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถชดเชยราคาที่จะถูกกดันจากบอนด์ยิลด์ขาขึ้นได้ ด้านตลาดหุ้นยังน่าสนใจลงทุน หนุนโดยกำไรสุทธิที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นที่มีราคาถูกกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือหุ้น Value หรือหุ้นที่เคลื่อนไหวตามวัฏจักร หรือหุ้น Cyclical เช่น กลุ่มการเงิน ที่ราคาพื้นฐานยังคงน่าสนใจ รวมทั้งลงทุนในหุ้นกู้ตลาดเกิดใหม่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในเอเชียที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ในประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ ประเมินค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น สวนทางกับค่าเงินยูโร ลดสัดส่วนการลงทุนในทองคำ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่สูงขึ้นจะกดดันราคาทองคำ และเน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุก (Active) มากกว่าลงทุนตามดัชนี (Passive) พร้อมทั้ง ปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างสม่ำเสมอตามสภาวะตลาด มองความผันผวนถือเป็นโอกาสในการลงทุน และการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainability) ยังคงเป็นกุญแจสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นให้พอร์ตการลงทุน โดยธนาคารยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งธนาคารจะยังคงปรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนให้ยั่งยืน

นอกเหนือจากผลงานในการให้คำแนะนำด้านการลงทุน ธนาคารยังให้บริการครอบคลุมในทุกมิติ เช่น บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว โดยในปี 2565 มีแผนที่จะเพิ่มบริการในเรื่องการช่วยจัดตั้งสำนักงานครอบครัว (Family Office) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจธุระและธุรกรรมต่างๆ งานด้านสาธารณกุศล (Philanthropy) โดยนำองค์ความรู้จากพันธมิตร Lombard Odier มาปรับใช้เพื่อยกระดับองค์กรสาธารณกุศลของไทย รวมถึงการให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนตามความชอบ (Passion Investment) เช่น การสะสมงานศิลปะ พระเครื่อง เป็นต้น บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service)โดยที่ผ่านมา นำเสนอผลิตภัณฑ์ Land Loan for Investment ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก และยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธนาคาร โดยในปีนี้มีลูกค้ากว่า 145 รายให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ โดยอนุมัติวงเงินไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 9 พันล้านบาท

ด้านการดำเนินธุรกิจ KBank Private Banking ในปี 2564 ยังเติบโต โดยมีจำนวนลูกค้าประมาณ 13,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ทั้งหมดประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากปี 2563 ที่ 3% และ 6% ตามลำดับ ภายในสิ้นปี 2564 คาดว่าจะมีสินทรัพย์ลงทุนรวมประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 68% โดยเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและ/หรือมีความซับซ้อน (Sophisticated asset) ถึง 1.5 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 2563 ถึง 16% และคาดว่ารายได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมการลงทุนจะเติบโตถึง 27%

“ตอนนี้เรายังมอง AUM ในปีหน้าไว้ที่ 970,000 ล้านบาทอยู่ และคาดว่าในปีถัดไปก็น่าจะแตะที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท แต่ถ้ามีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาหนุน เช่น Land Loan มียอดเข้ามามากกว่าที่คาดไว้อาจจะทำให้เราไปถึง 1 ล้านล้านได้เร็วกว่าที่คาดไว้”

นอกจากนี้ ปี 2565 ธนาคารยังคงสานต่อกลยุทธ์ 3S ต่อเนื่องได้แก่ S แรก-New S-Curve เปิดโอกาสต่อยอดความมั่งคั่งให้ลูกค้า จากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่า HNWIs มีความกังวลต่อการลงทุนในยุค Post COVID-19 เป็นโอกาสสำคัญให้ธนาคารนำเสนอการลงทุนทางเลือก อย่างการลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตผ่านทางกองทุนรวมและหุ้นนอกตลาด S ที่สอง-Sustainability แนะนำการลงทุนด้วยเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ยั่งยืนเพื่อโอกาสการลงทุนที่ดีกว่า จากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่าบุคคลสินทรัพย์สูง (HNWIs) ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนก่อนตัดสินใจลงทุนและเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าได้ S ที่สาม-Sharing ผสานร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรสาธารณกุศล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลูกค้าที่ต้องการจัดตั้งมูลนิธิของครอบครัว โดยให้คำแนะนำด้านการลงทุนและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายและมีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจให้ความก้าวหน้า สร้างโลกที่ยั่งยืน และสร้างสังคมที่มีความสุข

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

Klook.com